KEYWORDS & TITLE อาวุธลับ STOCK PHOTO

ความสำเร็จในการขายภาพสต็อก ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคุณภาพและเนื้อหาของภาพที่เราถ่ายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกพอสมควร เช่น เรื่องชื่อและคำอธิบายภาพ เรื่องคำค้น หรือคีย์เวิร์ด ที่เตรียมไว้ให้ลูกค้าใช้เข้ามาค้นหาภาพสต็อกไปใช้งานอีกด้วย
ปกติแล้ว สมมติว่าลูกค้าของ Shutterstock ต้องการภาพสต็อกเกี่ยวกับวัวที่อยู่ในฟาร์ม และมองเห็นฉากหลังเป็นท้องฟ้าที่มีเมฆลอยละล่อง ก็จะเข้ามายังเว็บของ Shutterstock แล้วก็ใช้คีย์เวิร์ดหรือคำค้นประมาณว่า cow farm cloud blue sky วัว ฟาร์ม เมฆ สีฟ้า ท้องฟ้า หรือกลุ่มคำอื่น ๆ ที่คล้าย ๆ กันนี้ จะไม่นิยมค้นหาด้วยคำคำเดียวโดด ๆ เพราะถ้าทำอย่างนั้น เขาก็จะได้ไฟล์จำนวนมากที่มีเนื้อหากว้างเกินความต้องการ เช่น ใส่คำค้นคำเดียวคือ cow หรือ วัว ก็จะได้ภาพวัวจำนวนมาก ทั้งวัวที่อยู่ในทุ่งตามที่คิดไว้ อยู่ที่อยู่บนฉากหลังขาว เนื้อวัวในโรงฆ่าสัตว์หรือในซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น ดังนั้น การใส่คีย์เวิร์ดให้กับภาพสต็อกของเรา จึงต้องใส่ให้ครอบคลุมเนื้อหาอย่างครบถ้วน ทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรม ยกตัวอย่างการใส่คีย์เวิร์ดสำหรับภาพสต็อกใน iStockphoto นั้นถือเป็นเรื่องที่ต้องละเอียดพอสมควร เนื่องจากที่นี่ต้องการความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน การใส่คีย์เวิร์ดที่ไม่ตรงกับเนื้อหาของภาพ หรือใช้คีย์เวิร์ดคำเดียวแล้วไปเติม s เติม ing เข้าไป ไมโครสต็อกแห่งนี้(รวมทั้งที่อื่น ๆ ด้วยนั่นแหละครับ) จะไม่ค่อยปลื้มเท่าใดนัก ต่อไปนี้คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการใส่ข้อมูลต่าง ๆ ลงในภาพสต็อก ซึ่งนำไปใช้ได้กับไมโครสต็อกทุกแห่ง

Title การตั้งชื่อให้กับภาพสต็อก
ควรใช้คำไม่เกิน 10 คำสำหรับตั้งชื่อ อธิบายความหมายหลักของสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพนั้น ใช้คำสั้น ๆ ไม่ต้องอธิบายมากในส่วนนี้ เช่น Five Pencils ดินสอห้าแท่ง ก็ถือว่าเพียงพอ ไม่ต้องใส่ A หรือ The หรือตัวเลขใด ๆ นำหน้าชื่อเพราะหวังว่ามันจะทำให้ผู้ซื้อค้นหาภาพของเราขึ้นมาในอันดับแรก ๆ เพราะว่า ระบบอัลกอริธึ่มในการค้นหาของไมโครสต็อกนั้นสลับซับซ้อนและสุดยอดกว่าจะหลงกลเทคนิคง่าย ๆ ประเภทนี้ ดังนั้นต้องไม่ตั้งชื่อไฟล์ประเภท A Five Pencils หรือ 1 Red Pencils หรือ The Running Machine เป็นต้น

Description การใส่คำอธิบายลักษณะหรือเนื้อหาของภาพ
iStockphoto ระบุไว้ชัดเจนว่า การใส่คำอธิบายลักษณะภาพนั้น ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้พิจารณาว่า จะให้ภาพนั้นผ่านหรือไม่ผ่าน คำอธิบายต้องใช้คำที่บอกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวัตถุซึ่งอยู่ในภาพอย่างชัดเจน เราสามารถที่จะใส่คำอธิบายถึงสภาพแวดล้อมเฉพาะของภาพนั้น ๆ หรือสิ่งที่น่าสนใจ หรือสิ่งที่ทำให้ภาพนั้นพิเศษแตกต่างจากภาพอื่น ๆ ได้ แต่ภายในคำอธิบายนี้ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อเฉพาะของบุคคลหรือสิ่งต่าง ๆ ชื่อเครื่องหมายการค้าหรือยี่ห้อของสินค้าใด ๆ หรือชื่อของสิ่งของที่มีลิขสิทธิ์ต่าง ๆ เช่น เราถ่ายภาพนางแบบในชุดสูทแบบนักธุรกิจกำลังยกนาฬิกาขึ้นมาดูเวลา เหมือนกับการคอยใครสักคน ก็ใส่คำอธิบายประเภทว่า Woman in business suit seeing her watch ผู้หญิงในชุดสูทกำลังมองนาฬิกาข้อมือ ก็พอ ไม่ต้องอธิบายว่า Miss Sureeporn in Prada suit seeing her Rolex watch นางสาวสุรีย์พรในชุดสูทยี่ห้อปราด้ากำลังมองนาฬิกาข้อมือยี่ห้อโรเล็กซ์ของเธอ อะไรทำนองนี้ ด้วยหวังว่า การบอกยี่ห้อหรือชื่อสินค้าจะทำให้ลูกค้าสนใจภาพที่ดูไฮโซขึ้น อย่างนี้นอกจากไม่ช่วยอะไรแล้ว อาจจะทำให้ภาพที่กำลังจะผ่านการพิจารณา กลายเป็นไม่ผ่านในทันที

Keywords หรือ คำค้น หัวใจของการขายภาพสต็อก
การใส่คีย์เวิร์ดหรือคำค้นสำหรับให้ลูกค้าค้นหาภาพของเราพบ ถือเป็นหนึ่งใน “หัวใจ” สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับการขายภาพสต็อก ยิ่งคุณใส่คีย์เวิร์ดได้ดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เครื่องมือค้นหาทำการแสดงงานของคุณให้ลูกค้าเห็นมากขึ้นเท่านั้น เคล็ดลับคือการเดาใจลูกค้าให้ถูกว่า พวกเขาจะค้นหากันด้วยคำอะไรบ้าง คุณมีภาพที่ยอดเยี่ยม คุณภาพดี เนื้อหาน่าสนใจ ลงทุนลงแรงถ่ายและจัดการไฟล์ด้วยความตั้งอกตั้งใจ มันควรจะขายได้ดี ในแต่ละวันมีลูกค้าที่เป็นสมาชิกหลายล้านคนเข้ามาค้นหาภาพในไมโครสต็อก (เฉพาะ iStockphoto ที่เดียว เขาก็เปิดเผยตัวเลขว่า มีลูกค้ามากกว่า 1,000,000 คนเข้ามาค้นหาภาพในเว็บแห่งนี้) พวกเขาก็อยากเจอภาพสต็อกดี ๆ ของคุณเหมือนกัน เทคนิคการใส่คีย์เวิร์ดบางอย่างก็ช่วยให้ทั้งฝ่ายคุณและฝ่ายลูกค้า บรรลุจุดประสงค์ได้ง่ายขึ้น ได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

เทคนิคเหล่านั้นคืออะไรบ้าง ก็คือการใช้คำที่แยกออกมาเป็นคำแต่ละคำเพื่อ “พรรณา” ว่าอะไรอยู่ในภาพสต็อกของคุณ คุณมีจำนวนคำถึง 50 คำให้ใช้ในการอธิบายให้มันแจ่มแจ้งชัดเจน (ไมโครสต็อกบางแห่งให้คุณใส่คีย์เวิร์ดได้มากกว่า50 คำ แต่ Shutterstock ให้ใส่ได้ไม่เกิน 50 คำ ดังนั้น หากว่าต้องการส่งภาพที่เว็บนี้ด้วย ก็ต้องใส่คำค้นไว้ไม่ให้เกินจำนวนนี้) ยิ่งคุณใช้คำได้ตรงกับเนื้อหาและบีบให้มันมีความหมายแคบหรือตรงตัวได้มาก เท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ภาพของคุณจะถูกค้นเจอมากเท่านั้น ก่อนใส่คีย์เวิร์ด ก็ถามตัวเองด้วยคำถามง่ายๆ ว่า มันคืออะไร แล้วก็ค่อย ๆ ตอบตามที่เห็นชัด เช่น มันคือดอกไม้สีเหลืองที่ชื่อดาวกระจาย หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า Cosmos หรือ Mexican Aster ซึ่งกำลังบานเต็มที่ในฉากหลังที่เป็นท้องฟ้าสีฟ้าและมีเมฆสีขาวอยู่เบื้อง หลัง, มันคือ ดอกกุหลาบสีขาวสองดอก มีหยดน้ำเกาะ ดูแล้วสดชื่น สีสวย, คือ ผู้หญิงวัยรุ่น ที่ดูกระฉับกระเฉง เป็นคนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในชุดทำงาน กำลังคุยโทรศัพท์มือถือ บนฉากหลังสีขาว เป็นต้น ค่อย ๆ ตอบตัวเองไปทีละประเด็น จากนั้นก็เอาคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องมาใส่ลงไป ก็จะทำให้เสิร์ชอินจิ้นของเว็บค้นหาและแสดงผลได้ตรงกับภาพของเรามากขึ้น (หรือแม้แต่ Google ก็เข้าไปค้นหาในไมโครสต็อกกับเขาด้วยนะครับ)

การใส่คีย์เวิร์ดที่ดี ควรเริ่มจากการใช้คำที่อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างให้จำเพาะเจาะจง จำกัดวงให้ตรงกับวัตถุหลักของภาพ สำหรับภาพที่มีคนปรากฏอยู่ ก็ให้รวมเอาคำศัพท์ที่เกี่ยวกับกิริยาท่าทาง เชื้อชาติ สีหน้า อารมณ์ ลักษณะที่แสดงออกต่าง ๆ เช่น ผู้หญิงหน้าสวย, ตำรวจอ้วน, นักธุรกิจมีผมน้อย หรือศรีษะล้าน ก็ใส่ลงไปได้ ใครจะไปรู้ ที่มุมไหนสักแห่งในโลก ลูกค้าอาจจะกำลังหาภาพที่เกี่ยวกับนักธุรกิจศรีษะล้านอยู่ก็ได้ คนจำนวนมากอาจจะนึกไม่ถึง แต่ถ้าคุณนึกถึงคำนั้นและกล้าใส่ไป โอกาสก็เป็นของคุณ
ใช้คำค้นหรือคีย์สองสามคำแจกแจงให้กับเนื้อหาสำคัญทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด ขึ้นในภาพของคุณไล่ไปเรื่อย ๆ ทั้งที่เป็นส่วนวัตถุหลัก ฉากหลังหรือส่วนประกอบ คุณจำเป็นจะต้องมองภาพของคุณให้เป็นเรื่องเรื่องหนึ่ง และเริ่มต้นบรรยายเรื่องนั้น การบรรยายต้องแน่ใจว่ามีคำที่ประกอบด้วยคำนาม (สำหรับอธิบายถึงบุคคล สถานที่ และสิ่งของที่อยู่ในภาพ) และต้องแน่ใจว่ามีคำที่มีลักษณะเป็นกิริยา (อธิบายว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่) ในสถานการณ์นั้น ขอให้ลองจินตนาการว่าคุณเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ เวลาจะบรรยายเหตุการณ์ ต้องตั้งคำถามหลัก ๆ เกี่ยวกับภาพที่ปรากฏขึ้นมา และหาคำตอบว่า ใคร อะไร เมื่อ ที่ไหน และ ทำไม เทคนิคเหล่านี้ จะทำให้คุณได้คีย์เวิร์ดที่ครอบคลุมเนื้อหาของภาพทั้งหมดได้โดยง่าย

คีย์เวิร์ดจะบรรยายถึงทุกมุมที่ปรากฏอยู่ในภาพ เมื่อเราใส่คำที่อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างละเอียดเช่นนี้ เวลาที่ลูกค้าซึ่งกำลังนึกถึงภาพที่คล้าย ๆ กันนี้เข้ามาค้นหาภาพ เขาก็ย่อมที่จะใช้คำต่าง ๆ ซึ่งคล้าย ๆ กับที่เราบรรยายไป โอกาสที่พวกเขาจะพบภาพของเราก็มีมากขึ้น สมมติว่าในภาษาไทย เรามีภาพผู้ชายคนหนึ่งกำลังทำท่าตะโกนเสียงดังเหมือนกำลังโมโหอะไรอยู่ ถ้าเรานึกบรรยายภาพ ก็คงจะนึกได้ประมาณว่า ผู้ชายตะโกนเสียงดัง กำลังโกรธ คนทั่วไปคงจะไม่นึกถึงคำว่า บุรุษเพศผู้พิโรธโกรธา หรือ ชายชาติอาชาไนยผู้กำลังขึ้งโกรธ เป็นต้น ลูกค้าที่เข้ามาค้นหาภาพก็เช่นเดียวกัน พวกเขาก็มักจะใช้คำ (ภาษาอังกฤษ) ง่าย ๆ พื้น ๆ มาค้นหาภาพกันเป็นหลัก ดังนั้น ภาษาอังกฤษที่นิยมใช้เป็นคีย์เวิร์ด ก็จะเป็นภาษาอังกฤษที่เป็นศัพท์พื้นฐานระดับประถมและมัธยมโดยทั่วไปเป็นหลักครับ ไม่ใช่ศัพท์ยาก ๆ ในตำราวิชาการชั้นสูงแต่อย่างใด ยกเว้น คำศัพท์ที่เป็นศัพท์เฉพาะของวัตถุพิเศษบางชนิด เช่น เราถ่ายภาพกล้วยไม้รองเท้านารี นอกจากคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับดอกไม้และกล้วยไม้ทั่ว ๆ ไปแล้ว ก็ควรหาคีย์เวิร์ดที่เป็นชื่อเฉพาะ ชื่อวงศ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ ของกล้วยไม้ชนิดนั้น ๆ มาใส่ลงไปด้วย ซึ่งอันนี้จำเป็นจะต้องใช้ศัพท์แปลก ๆ ยาก ๆ กว่าปกติ ควรใช้วิธี Copy จาก Dictionary หรือจากแหล่งที่มา มาใส่ในช่องคีย์เวิร์ด เพราะคำยาก ๆ แปลก ๆ เหล่านี้ ถ้าพิมพ์เองอาจจะมีการผิดพลาดตกหล่นได้ครับ
ข้อควรระวังก็คือ คำว่า ทุกสิ่งที่อย่างนั้น หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสาระสำคัญนะครับ ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นรายละปลีกย่อยจนเกินไป อย่างเช่นภาพผู้หญิงด้านล่างนี้ ถ้าเป็นภาพสต็อก เรานึกถึงอะไร ให้คิดออกมาเป็นเรื่องราวเลย ผู้หญิง หน้าตาดี วัยรุ่น กำลังยิ้ม กินขนมหวานที่มีผลไม้เป็นส่วนประกอบ ซึ่งมันน่าจะดีต่อสุขภาพ ในสถานที่ที่ดูเหมือนร้านอาหาร บรรยากาศสบาย ๆ แน่นอนว่าคุณอาจจะใช้คำค้นหาหรือคีย์เวิร์ดว่า woman, girl, teen, pretty, face, nice, smile, eat, food, ice, fruit, fresh, health, shop, restaurant, relax, lifestyle หรืออะไรอย่างอื่นได้อีกหลายคำ แต่สิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพจำนวนมากที่คุณไม่จำเป็นต้องใส่คีย์เวิร์ดไว้ เช่น มือ แขน กระดุม นิ้วมือ จมูก เป็นต้น สิ่งเล็ก ๆ น้อย เหล่านี้ไม่ใช่เนื้อหาสาระของภาพ ไม่เป็นทั้งเนื้อหาหลักหรือเนื้อหารอง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใส่ แต่ถ้าหากคุณใส่เข้าไปจริง ๆ นั่นอาจจะทำให้ภาพของคุณไม่ผ่านก็ได้ ด้วยข้อหา ใส่คีย์เวิร์ดไม่เกี่ยวข้องกับภาพ ซึ่งสำหรับ iStockphoto แล้ว ข้อหานี้โดนกันบ่อย ๆ น่าเสียดายที่อะไร ๆ ก็ดีพร้อมไปหมด แต่ภาพก็สอบตกด้วยเรื่องการใส่คีย์เวิร์ดที่ถูกพิจารณาว่า ไม่เกี่ยวข้องกับภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใส่คีย์เวิร์ดที่บีบความหมายให้แคบจะมีประโยชน์มากก็จริง แต่มันก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด อย่าลืมว่าเรามีจำนวนคีย์เวิร์ดให้ใช้ถึง 50 คำ ไม่จำเป็นต้องเป็นคำที่มีความหมายตรงตัวแคบ ๆ ทั้งหมด การไม่ใส่คีย์เวิร์ดกว้าง ๆ ทั่วไปลงไปบ้าง จะทำให้คุณพลาดโอกาสสำหรับลูกค้าที่ค้นหาภาพแบบไม่เจาะจงมากนัก เช่น การใส่คีย์เวิร์ดว่าความหมายว่า ขาไก่กำลังทอดอยู่ในกะทะแสตนเลสใบที่มีสภาพใหม่ในครัวสไตล์โมเดิร์น chicken leg frying new stainless pan modern style kitchen แบบนี้อาจจะทำให้คุณมีโอกาสสูงสุดเมื่อใครสักคนเข้ามาค้นหาภาพแบบจำเพาะ เจาะจงเช่นนี้ คู่แข่งก็มีน้อย แต่ในขณะเดียวกัน ภาพนี้ก็ยังมีโอกาสขายให้คนที่เข้ามาค้นหาด้วยคีย์เวิร์ประเภท food meal breakfast meat lunch dinner eat ซึ่งเป็นคำธรรมดาสามัญทั่วไปด้วย เป็นต้น เพราะฉะนั้น อย่าลืมคำพื้น ๆ พวกนี้เด็ดขาด ให้เริ่มจากคีย์เวิร์ดเฉพาะก่อน แล้วค่อย ๆ จบลงที่คีย์เวิร์ดกว้าง ๆ แบบนี้

นอกจากนี้แล้ว เทคนิคการถ่ายทำแต่ละชนิด ก็สามารถนำมาใช่ไว้ในคีย์เวิร์ดของภาพนั้น ๆ ได้ด้วยถ้ามันใช้เทคนิคหรือวิธีการนั้นจริงๆ เพราะว่าบ่อยครั้งที่ลูกค้าเข้ามาค้นหาภาพที่มีเทคนิคหรือวิธีการถ่ายโดย เฉพาะ คีย์เวิร์ดเหล่านี้เช่น zoom (ถ่ายโดยใช้เทคนิคการซูม ไม่ว่าซูมเข้าหรือซูมออก), second curtain (ถ่ายด้วยการใช้เทคนิคเปิดแฟลชสัมพันธ์กับม่านชัตเตอร์ชุดที่สอง), low angle (ถ่ายในมุมต่ำ), bird eyes view (ถ่ายในมุมสูง), closeup (ถ่ายระยะใกล้) เป็นต้น พวกนี้สามารถเอามาใส่ไว้ในชุดคีย์เวิร์ดได้เช่นกัน ทำให้ภาพของเรามีโอกาสถูกค้นพบจากลูกค้าที่ต้องการสิ่งที่เป็นเทคนิคการถ่าย ทำเฉพาะในกลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น
ถ้าจำนวนคีย์เวิร์ดยังมีเหลือพอ และภาพของเราถ่ายทำด้วยเทคนิคอะไรเป็นพิเศษเท่าที่เราพอจะนึกออก ก็อย่าลังเลที่จะใส่เข้าไปด้วย ลูกค้ามักจะใช้คำศัพท์พวกนี้เข้ามาค้นหาภาพอยู่เสมอ เช่น black and white, isolation, cross-process, high-key แม้แต่พวกรูปแบบการถ่ายก็สามารถเอามาใส่ได้เช่น lifestyle, panorama, crowd, candid, abstract เป็นต้น


การใส่คีย์เวิร์ดมีเรื่องของความละเอียดรอบคอบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ภาพที่มีเนื้อหาคล้าย ๆ กันจะมียอดขายแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งก็มาจากการใส่คีย์เวิร์ดลงไปในภาพนั่นเอง และสำหรับการใส่ข้อมูลเหล่านี้ ควรใส่ตั้งแต่ขั้นตอนการ Processหรือปรับแต่ง ตัดต่อภาพด้วยโปรแกรมเช่น Lightroom, Photoshop, ACDSee หรือโปรแกรมตกแต่งภาพอื่นที่เราใช้งานกันอยู่ เพราะว่าจะเป็นการทำงานครั้งเดียว เมื่อนำภาพส่งไปยังไมโครสต็อกต่าง ๆ หลาย ๆ แห่ง จะได้ไม่เสียเวลาในการต้องคอยใส่ข้อมูลต่าง ๆ เพราะว่าระบบของไมโครสต็อกทุกแห่ง จะอ่านข้อมูลเหล่านี้โดยอัตโนมัติจาก Meta Data ที่เราใส่ไว้เรียบร้อยแล้วนั่นเองครับ
Photo: Keywords And Title อาวุธลับ Stock Photo >>>>> Download Now
ตอบลบ>>>>> Download Full
Photo: Keywords And Title อาวุธลับ Stock Photo >>>>> Download LINK
>>>>> Download Now
Photo: Keywords And Title อาวุธลับ Stock Photo >>>>> Download Full
>>>>> Download LINK 8W