METADATA ที่จำเป็นในงาน STOCK PHOTOGRAPHY
การส่งภาพไปขายในไมโครสต็อกนอกจากตัวภาพที่มีคุณภาพตรงตามเกณฑ์ที่ไมโครสต็อกแต่ละแห่งกำหนดไว้แล้ว ข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ใน Metadata ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าในการส่งภาพแต่ละภาพเราจะสามารถทำการใส่ข้อมูลต่าง ๆ ที่ไมโครสต็อกต้องการเช่น Title หรือชื่อภาพ, Description หรือคำอธิบายรายละเอียดภาพ, Keywords หรือ คำค้นที่ใช้สำหรับให้ลูกค้าค้นหาภาพ ได้เป็นรายภาพก็ตามแต่ระบบของไมโครสต็อกทุกแห่ง จะทำงานร่วมกับระบบข้อมูล Metadata มาตรฐานของภาพเมื่อช่างภาพส่งภาพใดภาพหนึ่งเข้าไป อันดับแรก ระบบของไมโครสต็อกจะเข้าไปอ่านข้อมูล Matadata ของภาพนั้นดูก่อนว่ามีการใส่มาด้วยหรือไม่ ถ้ามีก็จะทำการดึงมาใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องให้ช่างภาพเสียเวลาในการใส่ข้อมูลต่าง ๆเหล่านั้นเป็นรายภาพอีกครั้งหนึ่ง
Metadata ที่จำเป็นที่ว่านั้น มันคืออะไรบ้าง ก็จะมีอยู่ 3 อย่างเท่านั้นที่ไมโครสต็อกทุกแห่งต้องการใช้ แม้ว่าบางแห่งจะใช้อย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนี้บางแห่งใช้อย่างนี้ ไม่ใช้อย่างนั้น แต่การใส่ข้อมูล Metadata ลงไปในภาพทุกภาพของเราให้ครบ 3 อย่างต่อไปนี้เราก็จะสามารถนำภาพนั้นไปส่งให้กับไมโครสต็อกทุกแห่งได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาใส่เพิ่มภายหลังโดยในการใส่ข้อมูลที่จำเป็นตามที่ว่านั้น ก็จะมีรายละเอียดดังนี้ครับ
1. Title หรือ ชื่อภาพ
เป็นข้อมูล Metadata ที่จำเป็น ซึ่งใส่ง่ายที่สุดในบรรดา 3 อย่างนี้เนื่องจากไมโครสต็อกทุกแห่ง จะไม่ได้กำหนดความยาวหรือจำนวนคำหรือประโยคใน Title ในกรณีที่เราไม่ชำนาญการคิดคำหรือคิดประโยคภาษาอังกฤษจริงๆ เราสามารถใส่คำศัพท์อะไรก็ได้ที่มีความหมายตรงกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพเพียงสั้นๆ ก็ได้ ไมโครสต็อกบางแห่งเช่น Dreamtime จำกัดความยาวของTitle เอาไว้ที่ไม่เกิน 40 ตัวอักษร บางแห่งก็ไม่จำกัด ดังนั้นสำหรับ Title นี้ เราสามารถใช้คำได้ตั้งแต่ 1 คำไปจนถึงหลาย ๆ คำ แต่ไม่เกิน 40 ตัวอักษร เพื่อไม่ให้เกินเกณฑ์ของ Dreamstime ในทางปฏิบัติ ควรใช้สัก 3-7 คำก็เพียงพอเนื่องจากหากว่าสั้นเกินไป ก็จะเสียประโยชน์สำหรับไมโครสต็อกบางแห่ง ซึ่งกำหนดให้ Title มีผลต่อการค้นหาภาพเมื่อลูกค้าใส่คำค้นด้วยหากช่างภาพมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษพอจะใส่ประโยคที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมได้ก็ควรใส่ลงไป จะมีประโยชน์เพิ่มขึ้นครับ
2. Description หรือ คำอธิบายภาพ
การใส่คำอธิบายภาพมีรายละเอียดมากขึ้นกว่าการใส่ Title เนื่องจากมีไมโครสต็อกบางแห่ง กำหนดจำนวนคำขั้นต่ำสำหรับข้อมูลนี้เอาไว้ด้วยเช่น Dreamstime กำหนดว่า ต้องมีอย่างน้อย 5 คำขึ้นไป ส่วน Bigstockphoto กำหนดไว้ที่ 7 คำหรือมากกว่า ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่า ภาพของเราสามารถส่งไปขายในไมโครสต็อกได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องเสียเวลามาแก้ไขหรือใส่ในขั้นตอนการ Submit เป็นรายภาพ ภาพทุกภาพของเรา จึงควรใส่ Description อย่างน้อย 7 คำทุกภาพ
ช่างภาพบางคนอาจจะคิดว่าจะขายภาพในไมโครสต็อกเพียงสองสามแห่งหลัก ๆ เท่านั้น ซึ่งไม่บังคับจำนวน Descriptionขั้นต่ำ ดังนั้นใส่เพียงสามสี่คำก็พอ แต่สำหรับแนวคิดหรือคำแนะนำจากผม คิดว่าควรจะใส่ให้ครบ 7 คำขั้นต่ำเอาไว้ดีกว่า เป็นการเตรียมการณ์เผื่อไว้สำหรับอนาคต ธุรกิจไมโครสต็อกก็เหมือนธุรกิจทั่วไปและตัวเราบรรดาช่างภาพเอง ก็เหมือนคนทำธุรกิจทั่วไป สภาพการณ์ทางการตลาดและกลยุทธ์มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาในส่วนของไมโครสต็อกนั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งการเจริญเติบโตและการถดถอย ไมโครสต็อกอันดับท้าย ๆ ในวันนี้ เราไม่รู้ว่าพวกเขาจะพลิกสถานการณ์ขึ้นมาอยู่แถวหน้าของตลาดเมื่อไร ไมโครสต็อกชั้นนำในวันนี้อีกไม่ช้าก็อาจจะถูกเบียดไปอยู่กลางๆ ตาราง หรือเลิก หรือถูกควบรวมกิจการไปเมื่อใด ในส่วนของตัวช่างภาพเอง เราก็ไม่รู้ว่าต่อไปข้างหน้า เราเกิดนึกจะเปลี่ยนกลยุทธ์จากการขายภาพเฉพาะไมโครสต็อกหลัก ๆที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ มาเป็นการเพิ่มช่องทางการขายไปสู่ไมโครสต็อกเล็ก ๆเป็นการเก็บเล็กผสมน้อยไม่ให้เสียโอกาส หรือไม่ก็วันนี้เราอาจจะเป็นเพียงช่างภาพสต็อกมือสมัครเล่น ขายภาพเป็นงานเสริมสนุก ๆ แต่ทำไป ๆเราอาจจะพัฒนาตัวเองไปถึงขั้นมืออาชีพ หรือสบช่องในการทำเต็มเวลาหรือมีคนช่วยส่งภาพจัดการภาพเพิ่มขึ้นมาในอนาคนอันไม่ไกล ทีนี้เราก็ย่อมจะเริ่มมองหาช่องทางใหม่ ๆ เพิ่มเติมในการขายภาพอันมากมายของเรา การย้อนกลับมาแก้ไขข้อมูลภาพอาจจะเสียเวลามากโดยเฉพาะถ้าภาพพร้อมขายของเรา มีเพิ่มขึ้นเป็นหลักพัน หรือหลาย ๆ พันภาพหรือยิ่งกว่านั้น มีเป็นหมื่น ๆ ภาพ การต้องมาไล่แก้ Metadata กันทุก ๆภาพย่อมไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ ๆ ยิ่งการคอยไปใส่ข้อมูลภาพแต่ละภาพในขั้นตอนการ Submit ขั้นสุดท้ายในไมโครสต็อกนั้น ยิ่งเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเข้าไปใหญ่อย่างแน่นอน
Description หรือคำอธิบายภาพ มีความแตกต่างกับ Title อยู่พอสมควรคำอธิบายจะต้องมีลักษณะเป็น “ประโยค”ตามมาตฐานของประโยคภาษาอังกฤษทั่วไปบรรยายลักษณะของสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพให้เข้าใจเพิ่มเติมได้ชัดเจน เช่นวัตถุสิ่งนั้นคืออะไร, ลักษณะการถ่ายเป็นอย่างไร, ใคร ทำอะไร ที่ไหน เป็นต้น การใส่คำอธิบายภาพ สำหรับคนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษก็สามารถนำคำประเภท A หรือ The เป็นต้นมาใส่ผสมลงไปได้ นับเป็น 1 คำเหมือนกัน เช่น A cat ก็นับเป็น 2 คำ The morning ก็นับเป็น 2คำเป็นต้น ไวยากรณ์ที่ใช้ในประโยคนั้นถ้าใช้อย่างถูกต้องตามหลักการไวยากรณ์อังกฤษได้ก็จะดีมาก แต่ในทางปฏิบัติทั้งผู้ตรวจภาพและลูกค้าของไมโครสต็อกเอง ก็ทราบดีว่า ธุรกิจขายภาพออนไลน์เป็นธุรกิจที่ประกอบด้วยช่างภาพจากทั่วโลก มากมายหลายเชื้อชาติมีทั้งที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ดังนั้นภาษาอังกฤษที่ใช้ จะผิดไวยากรณ์ไปบ้าง ดูเป็นประโยคที่ไม่สมบูรณ์ไปบ้างก็ไม่ถือเป็นเหตุผลสำคัญในการรับหรือปฏิเสธภาพแต่อย่างใด ข้อสำคัญก็คือคำศัพท์แต่ละคำ จะต้องใส่ให้ถูกต้องตรงตามศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาภาพเพื่อที่จะอ่านแล้วไม่แปลหรือตีความหมายผิดไปเป็นอย่างอื่น ไมโครสต็อกบางแห่ง เช่น Freedigitalphotos.net มีบริการแก้ไขคำศัพท์หรือไวยากรณ์สำหรับภาพที่ผ่านการ Approved ให้ด้วย แต่ไมโครสต็อกส่วนใหญ่ ถ้าคุณภาพของไฟล์และคีย์เวิร์ดสมบูรณ์ก็มักจะปล่อยคำอธิบายภาพไว้ตามที่ช่างภาพได้ใส่ไปแม้ว่าจะไม่ถูกไวยากรณ์อย่างสมบูรณ์ก็ตาม
Title กับ Description จะต้องไม่ใช้คำชุดเดียวกันทั้งหมดเพราะระบบของไมโครสต็อกบางแห่งจะไม่ยอมรับ เช่นของDreamstime เป็นต้นจะต้องให้มีความแตกต่างกันอย่างน้อย 1 ตัวอักษร หรือ 1 คำ จึงจะทำการ Submit ได้ ควรระวังในข้อนี้ด้วยครับ บางคนสงสัยว่าคลิก Submit เท่าใดไม่ผ่านสักทีอาจจะเกิดจากการใส่สองอย่างนี้ด้วยคำหรือประโยคเหมือน ๆ กันนะครับ
3. Keywords หรือ คำค้น
สำหรับข้อมูล Metadata ที่จำเป็นหัวข้อนี้คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมมากนักเพราะเป็นสิ่งที่ช่างภาพสต็อกทุกคนจะต้องฝึกการหาคำ การใส่คำให้ชำนาญอยู่แล้วประเด็นสำคัญหลัก ๆ สำหรับการใส่คีย์เวิร์ดก็คือ จะต้องใส่ให้ภาพแต่ละภาพ ไม่น้อยกว่า 7 คำ และไม่เกิน 50 คำ เนื่องจากว่า ไมโครสต็อกบางแห่ง รับเฉพาะภาพที่มีคีย์เวิร์ด 7 คำหรือมากกว่า ส่วนไมโครสต็อกบางแห่ง (เช่น Shutterstock ไมโครสต็อกอันดับหนึ่งของโลก) ต้องการคีย์เวิร์ดหรือคำค้นนี้ไม่เกิน 50 คำ ดังนั้นคีย์เวิร์ด 7-50 คำที่อยู่ในภาพ จึงสามารถนำไปส่งขายที่ไมโครสต็อกแห่งใดก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น